"บิดา-มารดา" เป็นพรหมของบุตร ใน พรหมสูตร


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มารดาบิดา มีชื่อเรียก ๓ อย่าง คืออะไรบ้าง ? คือ
1. พรหม
2. บุรพาจารย์
3. อาหุไนย
อัง. ๒๐/พรหมสูตร/๔๗๐/๑๒๖
พุทธาธิบาย
คำว่า พรหม บุรพาจารย์ อาหุไนย เหล่านี้ เป็นคำเรียกมารดาบิดาทั้งหลาย เพราะท่านทั้งหลาย เป็น
ผู้มีอุปการะมาก เป็นผู้ฟูมฟักถนอมชีวิต เลี้ยงดูให้มือเท้าเติบโตให้ดื่มเลือดในอก ประคบประหงมให้เป็นไปโดยต่อเนื่องกัน แสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย ก็การที่บุตรทั้งหลายได้เห็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ในโลกนี้เกิดมีขึ้นเพราะได้อาศัยมารดาบิดา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศตระกูลที่บูชามารดาบิดาว่าเป็นตระกูลมีพรหมประจำบ้านโดยมีมารดาบิดาเป็นพรหม จริงอยู่ พระพรหมจะไม่ละภาวนา ๔ อย่าง คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ฉันใด มารดาบิดาทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกันจะไม่ละภาวนา ๔ อย่าง
พึงทราบระยะกาลภาวนา 4 อย่าง คือ
1. ในเวลาที่บุตรยังอยู่ในท้อง มารดาบิดาจะเกิดเมตตาจิตอย่างนี้ว่า เมื่อไรหนอ เราจะได้เห็นบุตร
     น้อยปลอดภัย มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบบริบูรณ์
2. แต่เมื่อบุตรน้อยยังเยาว์ นอนแบเบาะ มีเลือดไรไต่ตอมนอนกระสับกระส่าย ส่งเสียงร้องจ้า
    เมื่อมารดาบิดาได้ยินเสียงบุตรส่งเสียงร้องจ้าก็จะเกิดความกรุณาขึ้น
3. แต่ในเวลาที่บุตรวิ่งเล่นไปมาหรือตั้งอยู่ในวัยหนุ่มสาว มารดาบิดามองดูแล้วจะมีจิตอ่อนไหว
   บันเทิงเริงใจเหมือนกับสำลีและปุยนุ่นที่เขายีตั้ง ๑๐๐ ครั้ง หย่อนลงในฟองเนยใส
   จะมีมุทิตาจิตเกิดขึ้น
4. แต่เมื่อบุตรเริ่มมีครอบครัว แยกเรือนออกไป มารดาบิดาจะเกิดความวางใจว่า บัดนี้
    บุตรของเราจะสามารถเป็นอยู่ได้ตามลำพัง ก็จะมีอุเบกขาขึ้น
    แท้จริง มารดาบิดาทั้งหลาย ตั้งแต่บุตรเกิดแล้ว ย่อมให้เล่าเรียน ให้ศึกษาว่า จงนั่งอย่างนี้
   จงยืนอย่างนี้ จงเดินอย่างนี้ จงนอนอย่างนี้ จงเคี้ยวอย่างนี้ จงกินอย่างนี้ คนนี้ควรเรียกพ่อ คนนี้ควร
   เรียกแม่ คนนี้ควรเรียกพี่ คนนี้ควรเรียกน้อง ควรทำสิ่งนี้ ไม่ควรทำสิ่งนี้ ควรเข้าไปหาคนชื่อโน้น ไม่ควรเข้าไปหาคนชื่อโน้น ในเวลาต่อมา อาจารย์เหล่าอื่นจึงให้ศิลปะเรื่องช้าง เรื่องม้า เรื่องรถ เรื่องธนู และการนับด้วยนิ้วมือเป็นต้น อาจารย์เหล่าอื่นให้สรณะ ให้ตั้งอยู่ในศีล ให้บรรพชา ให้เรียนพุทธพจน์ ให้อุปสมบท ให้บรรลุโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ดังนั้น อาจารย์เหล่านั้นทั้งหมดจึงชื่อว่าเป็นอาจารย์ในภายหลัง (ปัจฉาอาจารย์ ) ส่วนมารดาบิดาเป็นอาจารย์ก่อนกว่าทุกอาจารย์ (บุรพาจารย์)
มารดาบิดาผู้เอ็นดูบุตรจึงเป็นผู้เหมาะสมควรจะได้รับข้าวน้ำเป็นต้นที่บุตรจัดหามาเพื่อต้อนรับ ดังนั้น บุตรผู้มีปัญญาพึงนอบน้อมสักการะท่านด้วยข้าวยาคูภัตรและของควรเคี้ยว น้ำปานะ ๘ อย่าง ผ้าสำหรับนุ่งและผ้าสำหรับห่ม ที่นอนเครื่องรองรับคือเตียงและตั่ง เครื่องอบ เครื่องลูบไล้สำหรับกำจัดกลิ่นเหม็นทำให้มีกลิ่นหอม การสนานกายด้วยการให้อาบรดตัวด้วยน้ำอุ่นในหน้าหนาวและน้ำเย็นในหน้าร้อน การล้างเท้าด้วยน้ำอุ่นและน้ำเย็น และการทาด้วยน้ำมัน บัณฑิตทั้งหลายเห็นการปรนนิบัติมารดาบิดา แล้วย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้ เพราะมีการปรนนิบัติบำรุงมารดาบิดานั้นเป็นเหตุ เขาละโลกนี้ไปสู่ปรโลกแล้วสถิตอยู่ในสวรรค์ ย่อมร่าเริงบันเทิงใจด้วยทิพย์สมบัติแล ฯ

ไม่มีความคิดเห็น: