บทความ PDF

บทความทางวิชาการ
















เจ้าหนี้ใหญ่

วันหนึ่ง หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว 2-3 วัน ข้าพเจ้ายังรู้สึกอาวรณ์ที่ทำงานเก่า
ที่ภาควิชาปรัชญาและศาสนาแห่งคณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่ เพราะเคยนั่งทำงานอยู่ที่นั่นมาหลายสิบปี จึงเป็นการยากที่จะลบภาพต่างๆ ออกไปจากกระดานแห่งจิตใจได้อย่างฉับพลัน
เมื่อขึ้นไปทักทายปราศรัยกับเพื่อนร่วมงานที่สำนักงานทั่วหน้ากัน รู้สึกจิตใจสดชื่นแล้ว ข้าพเจ้าได้ไปนั่งใต้ต้นไม้ริมฝั่งอ่างแก้ว ณ จุดที่เงียบสงัด ไม่มีคนเดินไปเดินมา แล้วก็รำพึงกับตัวเองว่า วันเวลามันช่างผ่านไปรวดเร็วจริงหนอ เผลอแผล็บเดียวเกษียณอายุราชการเสียแล้ว
เจ้าแม่ปถพี
ขณะที่ข้าพเจ้านั่งคิดเพลินอยู่นั่นเอง สังเกตเห็นฟองน้ำขนาดใหญ่ปุดๆ ขึ้นมาเหนือผิวน้ำอันราบเรียบข้างหน้าข้าพเจ้า ห่างจากชายฝั่งออกไปเพียง 2-3 เมตรเท่านั้น คิดว่า คงจะมีสัตว์น้ำบางอย่างเคลื่อนไหวอยู่ใต้น้ำ จึงมองดูต่อไปด้วยจิตใจจดจ่อ ต่อมาอีกสักครู่ มีผักตบชวากอใหญ่ ค่อยๆ โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ ข้าพเจ้าตกใจแทบจะลุกขึ้นวิ่งหนีเมื่อได้พบว่า ภายใต้กอผักตบชวานั้น เป็นศีรษะสัตว์ประหลาดชนิดหนึ่ง ซึ่งตอนบนเป็นมนุษย์แต่ตอนล่างใต้ตาลงไปดูคล้ายๆ วัว หรือควาย บนตัวตนของสัตว์ประหลาดนั้นปกคลุมไปด้วยแหน และพืชน้ำชนิดอื่นๆ มันโผล่พ้นน้ำขึ้นมาครึ่งตัวแล้วก็หยุดอยู่แค่นั้น จ้องตาอันแวววาวน่ากลัวมายังข้าพเจ้า
พอได้สติ ข้าพเจ้าก็รีบลุกขึ้น หันหลังเตรียมจะออกวิ่งหนี เพราะเชื่อว่า เจ้าตัวประหลาดนั้นคงจะเป็นปีศาจน้ำ ที่มุ่งมาจะจับข้าพเจ้ากินเป็นอาหาร ตามเรื่องการ์ตูนที่เคยอ่านมา แต่ก่อนที่จะก้าวขาออกวิ่งรู้สึกว่า ยกขาไม่ขึ้น และรู้สึกเย็นๆ ที่ตาตุ่ม เมื่อก้มหน้าลงมองดู ข้าพเจ้าตกใจแทบเป็นลม เพราะขาของข้าพเจ้าถูกมือของสัตว์ประหลาดยึดไว้อย่างมั่นคง สลัดอย่างไรก็ไม่หลุด
ทันใดนั่นเอง ข้าพเจ้าได้ยินเสียงคนพูดดังมาจากข้างหลังเป็นภาษาไทยอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า "อาจารย์แสง... ไม่ต้องตกใจหรอก ฉันไม่ทำอันตรายคุณหรอก"
ข้าพเจ้ารู้สึกใจชื้นขึ้นมาบ้าง เพราะเห็นว่า อย่างน้อยที่สุด เจ้าตัวประหลาดนั้นก็คงรู้จักข้าพเจ้า
จึงเรียกชื่อได้ถูก และสำเนียงพูดก็ไม่มีวี่แววแห่งความโหดร้ายใดๆ
ข้าพเจ้าหันหน้าไปเผชิญกับเขาแล้วถามว่า "แกเป็นใคร ทำไมถึงรู้จักชื่อข้าฯ"
สัตว์ประหลาดตอบด้วยเสียงสุภาพว่า "อาจารย์แสง โปรดอย่าใช้คำว่า แกกับฉัน
อย่างน้อยควรจะใช้คำว่า "ท่าน" กับฉัน เพราะว่า ฉันคือเจ้าแม่ปถพี เป็นเจ้าแห่ง
แผ่นดินทั้งหมด และเป็นเจ้าแห่งมนุษย์ สัตว์และพืชทั้งหมดด้วย"
                                                                   เจ้าหนี้ใหญ่ข้าพเจ้าถามว่า "แล้วทำไมท่านจึงรู้จักชื่อผม" สัตว์ประหลาดที่เรียกตัวเองว่า เจ้าแม่ปถพี
หัวเราะเบาๆ แล้วตอบว่า "ฉันรู้ เพราะคุณเป็นสมบัติของฉัน อย่าว่าแต่คุณเลย มนุษย์ทุกคน
ในโลกนี้ ฉันก็รู้จักชื่อหมด เพราะทุกชีวิตเป็นสมบัติของฉันหมด"
"เป็นสมบัติของท่านได้อย่างไร ในเมื่อผมเกิดจากพ่อแม่ของผม ไม่ได้เกิดจากแผ่นดินเลย
เกิดมาแล้วก็ไม่ได้อาศัยท่านสักนิด เพียงแต่เหยียบยืนอยู่บนพื้นของท่านเท่านั้น นอกจากนั้น
ต้องต่อสู้ดิ้นรนด้วยลำแข้งของตนเองตลอด ท่านจะมาทึกทักเอาง่ายๆ ว่าผมเป็นสมบัติของ
ท่านได้อย่างไร?" ข้าพเจ้าโต้แย้งอย่าง งง ๆ
สัตว์ที่เรียกตัวเองว่า เจ้าแม่ปถพี หัวเราะหึๆ แล้วกล่าวว่า "อาจารย์แสงนี่ช่างไม่รู้อะไรเอา
เสียเลย...เสียงแรงสอนวิชาพระพุทธศาสนามาหลายสิบปี ขอให้คุณคิดทบทวนให้ดี เมื่อ
คุณปฏิสนธิในท้องแม่นั้น คุณเป็นเพียงหน่วยชีวิตเล็กๆ มองด้วยตาเปล่าแทบไม่เห็น ต่อมา
คุณก็ค่อยๆ โตวันโตคืนจนกลายเป็นทารกมีอวัยวะครบบริบูรณ์ พอครบ 8-9 เดือนก็คลอด
ออกมาเป็นทารกตัวแดงๆ เติบโตมาตามลำดับ จนเป็นผู้ใหญ่ เป็นคนแก่ดังที่เห็นอยู่นี้ ฉันขอ
ถามว่า อะไรทำให้อาจารย์เติบโตขึ้นมาได้ และดำรงชีวิตอยู่ได้ ณ บัดนี้"
คำถามของเจ้าแม่ปถพี ทำให้ข้าพเจ้าคิดหนัก คิดจะตอบคำถามในแง่ไหนดี แง่ศาสนาหรือ? แง่อภิปรัชญาหรือ ?แง่วิทยาศาสตร์หรือ ? ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังนั่งคิดอยู่นั้น เจ้าแม่ปถพีหัวเราะหึๆ
อีกครั้งแล้วกล่าวว่า "นี่แหละคือโทษของความรู้มากเกินไป เมื่อได้ยินคำถาม จึงไปมัวคิดถึง
ตำรับตำรา และทฤษฎีวิชาการต่างๆ จนลืมความจริงง่ายๆ ไป "
"ถ้าอย่างนั้น ตัวผมนี้มาจากไหนและอยู่ได้ด้วยอะไร?" ข้าพเจ้าแทรกถามขึ้นอย่างงงๆ
"ก็มาจากอาหารที่คุณกินเข้าไปทุกวันนั้นเอง" เจ้าแม่ปถพีตอบเน้นเสียง " คิดดูซิ
อาจารย์แสง อาหารที่คุณกินเข้าไปทุกวันนั้น มีอะไรบ้าง?"
"ก็มีข้าว มีปลา เนื้อ ผัก ผลไม้ต่างๆ เป็นต้น" ข้าพเจ้าตอบทันที เพราะเป็นคำถามเกี่ยวกับ
ข้อเท็จจริงง่าย ๆ "ถูกต้อง ... เจ้าแม่ปถพีตอบอย่างหนักแน่น ทีนี้ลองคิดสาวต่อไปอีกทีซิว่า
ข้าวนั้นมาจาก ไหนเป็นเบื้องต้น" "มาจากแผ่นดิน" ข้าพเจ้าตอบทันทีตามสามัญสำนึก
ไม่อยากตอบทางวิชาการให้เจ้า แม่ปถพีต่อว่าอีก
"ถูกต้อง...เจ้าแม่ปถพียืนยัน "เมื่อคุณคิดดูให้ดี คุณจะเห็นว่า ผัก ผลไม้ ปลา เนื้อ
และอาหารวัตถุต่างๆ ล้วนแต่มาจากดินทั้งนั้น เมื่อคุณกินมันเข้าไป มันก็ย่อยสลายกลาย
มาเป็นหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ตับ ไต ไส้ พุงของคุณ สรุปว่า ตัวคุณทั้งหมดนี้มาจากดิน
แผ่นดินคือตัวฉันเป็นเจ้าของแท้ของตัวคุณ คุณเพียงแต่มายืมสมบัติของฉันใช้ชั่วระยะเวลา
50-60-70-80-90 ปี ขณะที่อยู่ในโลกนี้เท่านั้น คุณจึงเป็นลูกหนี้ของฉัน ฉันจึงเป็นเจ้าหนี้
ของคุณ" ข้าพเจ้าพิจารณาไตร่ตรองดูคำพูดของเจ้าแม่ปถพีก็เกิดแสงสว่างขึ้นมาในใจว่า
คำพูดของเธอเป็นความจริงทุกประการ
ถึงเวลาใช้หนี้คืน
"ผมอยากทราบว่า เจ้าแม่มาปรากฏตัวคราวนี้ มีวัตถุประสงค์อะไรหรือ?"ข้าพเจ้าถามขึ้น
"มีวัตถุประสงค์สำคัญที่เดียว คุณฟังแล้วอย่าตกใจก็แล้วกัน อาจารย์แสง...คุณยืมสมบัติ
ของฉันไปใช้เป็นเวลา 60 ปีแล้ว บัดนี้ถึงเวลาที่คุณจะต้องใช้หนี้คืนแล้ว ฉันมาทวงหนี้ของ
ฉันจากคุณ"ข้าพเจ้าตกใจเล็กน้อย เพราะการใช้หนี้คืนเจ้าแม่ปถพี มันหมายถึงความตายทีเดียว
แต่ข้าพเจ้าเลิกกลัวตายมานานแล้ว เพราะเห็นว่า ความตายไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว มันเป็นแต่เพียง
การเปลี่ยนร่างใหม่ เปลี่ยนภพภูมิที่อยู่ใหม่เท่านั้น อีกทั้งข้าพเจ้าก็ได้ทำความดีมาพอสมควร
ถ้าเกิดใหม่ อย่างต่ำที่สุดก็คงเป็นมนุษยภูมิเหมือนชาตินี้ คงไม่ถึงกับไปเกิดในอบายภูมิทั้ง 4
คือสัตว์เดียรฉาน อลุรกาย เปรต และนรก ถ้าตายตอนนั้น อีก 17-18 ปี ข้าพเจ้าก็จะได้เป็น
ชายหนุ่มรูปหล่อกว่าเดิม สติปัญญาสูงกว่าเดิม เกิดในฐานะตระกูลสูงกว่าเดิม 17-18 ปี
ไม่ใช่ระยะเวลาที่เนิ่นนานอะไรเลย ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้น การตายเป็นเหมือนการนอนหลับ
ไปชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้วก็ตื่นขึ้นมาในสภาพที่ดีกว่า จึงไม่มีอะไรน่ากลัว แต่ความจริง
ตอนนั้นข้าพเจ้าก็ยังไม่อยากตาย เพราะยังมีงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมหลายอย่างที่จะ
ต้องทำให้เสร็จ
ผ่อนใช้หนี้
"ว่ายังไง อาจารย์แสง... พร้อมจะใช้หนี้แล้วหรือยัง" เจ้าแม่ปถพีพูดขึ้น หลังจากเราทั้ง 2
นิ่งอยู่ครู่ใหญ่ "ความจริงผมพร้อมที่จะใช้หนี้เจ้าแม่อยู่แล้ว เพราะสมบัติของเจ้าแม่เริ่มจะทรุด
โทรมแล้ว แต่ผมมีงานสำคัญอยู่ชิ้นหนึ่งที่อยากทำให้เสร็จ เพื่อพระศาสนาและประเทศชาติ
ผมอยากขอความกรุณาจากเจ้าแม่ให้ช่วยยืดเวลาใช้หนี้ออกไปอีกสักระยะหนึ่งจะได้ไหม?"
เจ้าแม่ปถพีนิ่งคิดอยู่ครู่ใหญ่แล้วพูดขึ้นว่า "ฉันพิจารณาดูแล้วเห็นว่าคุณเป็นคนดี และงาน
ที่คุณทำค้างอยู่ก็เป็นงานที่ดี มีค่าแก่พระศาสนา ตกลงฉันจะผ่อนผันยืดเวลาใช้หนี้ให้
คุณต้องการเวลานานเท่าไหร่?"
"ผมขอเวลาอีก 10 ปี"
"ตกลง" เจ้าแม่ตอบเสียงหนักแน่น "เป็นอันว่า ฉันจะอนุญาตให้คุณใช้สมบัติของฉันต่อไปอีก
10 ปี เมื่อคุณอายุได้ 70 ปี ฉันจะมารับเอาสมบัติของฉันคืน แต่มีเงื่อนไขอยู่อย่างนะ
"เงื่อนไขอะไรครับ" "คุณจะต้องดูแลรักษาทรัพย์สมบัติของฉันให้ดีอย่าทำลายมันด้วยยา
พิษต่างๆ เช่น สุรา บุหรี่ ยาเสพติด เชื้อไวรัส HIV เป็นต้น กินอาหารให้ถูกหลัก ขับถ่าย
สม่ำเสมอ ออกกำลังพอสมควร พักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นทำสมาธิ รักษาจิตใจให้สว่าง
สะอาด สงบอยู่เสมอ คุณจะรับเงื่อนไขนี้ได้ไหม"
"ได้ครับ เพราะตามปกติผมก็ทำอยู่บ้างแล้ว"
"ดีมาก" เจ้าแม่ปถพีตอบ "พยายามรักษาเงื่อนไขนี้ให้ดี ถ้าคุณละเมิดเงื่อนไข ฉันจะมายึดเอา
สมบัติของฉันคืนมาโดยเร็ว เพราะฉันรักและหวงแหนสมบัติของฉันมาก อย่าลืม" ว่าแล้ว
เจ้าแม่ปถพีก็ค่อยๆ ลดตัวลงสู่ระดับน้ำทีละน้อย จนหายตัวลับลงไปใต้ผิวน้ำ
ข้าพเจ้าถอนหายใจเฮือกใหญ่ด้วยความโล่งอก แต่ทันใดนั้น เจ้าแม่ปถพีก็โผล่ขึ้นมาอีก
แล้วกล่าวว่า " อาจารย์แสง ฉันหวงสมบัติของฉันมาก อยากได้คืนเร็วๆ แต่ก็ได้เผลอยืดเวลา
ให้คุณไปแล้ว 10 ปี คุณจะช่วยฉันหน่อยได้ไหม คือให้ค่อยๆ ผ่อนส่งทีละน้อย จะได้ไหม?"
"ผ่อนส่ง..." ข้าพเจ้าเผลอกล่าวออกมาด้วยเสียงดัง "หมายความว่า ท่านจะให้ผมตัดนิ้วมือ
นิ้วเท้าตัดแขนตัดขา ส่งคืนให้ท่านอย่างนั้นหรือ?"
"ไม่ใช่อย่างนั้น" เจ้าแม่ปถพีพูดช้าๆ " ฉันไม่ใจร้ายถึงขนาดนั้นหรอกน่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน
ถ้าคุณปวดฟัน ก็ถอนฟันส่งคืนฉันทีละซี่สองซี่ ตอนเช้าเวลาหวีผม ถ้ามีผมหลุดร่วงติดหวี
ออกมาให้เอานิ้วมือรวบแล้วส่งคืนให้ฉัน ถ้าเล็บมือเล็บเท้ายาวออกมา ก็ตัดเสียแล้วส่งให้ฉัน
เท่านี้แหละ คุณจะทำได้ไหม?" "ทำได้ สำหรับผมและเล็บนั้น ผมทำอยู่แล้วเป็นประจำ
ส่วนฟันก็ถอนไปหลายซี่แล้ว" "ดีมาก" เจ้าแม่ปถพีกล่าวเสียงหนักแน่น
บทเรียนจากเจ้าแม่ปถพี
ขณะที่เจ้าแม่ปถพีกำลังจะลดตัวลงดำน้ำ ข้าพเจ้าเกิดคิดขึ้นมาได้ จึงรีบกล่าวขึ้นมาว่า
"เจ้าแม่บอกว่า รักและหวงแหนสมบัติของเจ้าแม่มากมิใช่หรือ ถ้าอย่างนั้นทำไมไม่ดูแล
รักษามันให้ดี ปล่อยให้มันชำรุดทรุดโทรมเร็วเหลือเกิน เวลานี้ ตาเสื่อมคุณภาพลงไปมาก
อ่านหนังสือพิมพ์ตัวเล็กๆ แทบไม่ได้แล้ว ต้องเพ่งสายตาอ่านจนปวดตา หูขวาเริ่มตึง
ฟังนักศึกษาที่ถามมาจากหลังห้องเรียนไม่ค่อยได้ยิน จมูกก็ดมกลิ่นไม่ค่อยรู้กลิ่น เวลามี
คนแอบผายลม คนอื่นเขาบ่นกันขรม แต่ผมเฉยๆ ลิ้นก็รับประทานอาหารไม่ค่อยมีรส
มือเท้าก็ชา ถูกต้องอะไรก็ไม่ค่อยรู้สึก นี่มันหมายความว่าอย่างไร เจ้าแม่?"
เจ้าแม่ปถพีหัวเราะหึๆ ตามเดิม แล้วกล่าวขึ้นว่า "อาจารย์แสงนี่ช่างไม่รู้อะไรเอาเสียเลย
การที่ประสาทตา หู จมูก ลิ้น กายของคุณเสื่อมลงนั้น ฉันเองแหละเป็นคนทำ และทำด้วยความสงสารเห็นใจคุณ อยากจะช่วยเหลือคุณ ให้คุณได้พักผ่อนสบายๆ บ้าง คุณคิดดูก็แล้วกันว่า ตลอด 60 ปีที่ผ่านมา คุณต้องลำบากเหน็ดเหนื่อย เจ็บปวดเพราะตา หู จมูก ลิ้น กายมากแค่ไหน บางครั้งตาก็ให้คุณเห็นรูปสวย ๆ งาม ๆ หูให้คุณได้ยินเสียงไพเราะ จมูกให้คุณได้ดมกลิ่นหอม ลิ้นให้คุณได้ลิ้มรสอร่อย กายให้คุณได้สัมผัสกับสิ่งที่สบายๆ ต่อจากนั้นคุณก็เกิดความอยากได้ อยากมีอยากเสพรูปเสียง กลิ่น รส สัมผัสเหล่านั้นไว้ แต่เนื่องจาก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นอนิจจัง ไม่จีรังยั่งยืน จึงไม่มีอะไรอยู่กับเราตลอดไป จึงมีโอกาสที่จะผิดหวังตลอดเวลา
แต่ถ้าอยากได้อยากมีอยากเสพ รูป เสียง กลิ่น รสสัมผัสใด เกิดไม่ได้เพราะมีอุปสรรคขัดขวางก็เกิดความผิดหวัง เป็นทุกข์ระทมตรมใจ มากบ้างน้อยบ้าง บางรายทนทุกข์ไม่ไหว ถึงกับทำลายชีวิตตนเอง
ถ้าได้ ถ้ามี ถ้าเป็นสมอยาก ก็เกิดความสุข ความอิ่มใจ อยู่ชั่วระยะเวลาสั้นๆ เมื่อความอยากได้รับอาหาร มันก็เจริญเติบโตขึ้น เมื่อมันเจริญเติบโตขึ้น มันก็อยากได้ อยากมี อยากเป็น อยากเสพรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสมากขึ้นดีพิเศษยิ่งขึ้น มันจึงบังคับให้คุณต่อสู้ดิ้นหนักขึ้นๆ ไปตามลำดับ ดังนั้น คนส่วนมากจึงตกเป็นทาสผู้ซื่อสัตย์ของนายผู้ทารุณ คือ ความอยาก ซึ่งไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ หิวกระหายอยู่ตลอดเวลา ในที่สุดทุกคนก็ตายด้วยความอดอยากทั้งสิ้น
คุณเห็นหรือยังว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย นำความทุกข์ความเดือดร้อนมาให้คุณมากเพียงใด เพราะเหตุนี้เอง พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พระสงฆ์ผู้มุ่งปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์สำรวมอินทรีย์ คือระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มิให้แส่ไปดู ไปรู้ ไปเห็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และมโนภาพที่จะเร้าให้เกิคความอยาก เวลาเดินไปไหนมาไหน ให้มองไปข้างหน้าชั่วระยะ 4 ศอกเท่านั้น
คุณเป็นฆราวาส ไม่มีระเบียบวินัยสงฆ์มาบังคับให้สำรวมอินทรีย์ทั้ง 6 แต่คุณก็ทุกข์ทรมาน
วุ่นวายเพราะอินทรีย์ 6 มานานแล้ว ฉันจึงทำให้คุณได้สำรวมอินทรีย์ โดยวิธีทำลายสมรรถ
ภาพอินทรีย์ของคุณลงทีละน้อยๆ คุณจะได้สบายใจขึ้น"
เมื่อข้าพเจ้าตรึกตรองตามคำแนะนำของเจ้าแม่ปถพีก็เริ่มมองเห็นว่า การที่ประสาทตา หู จมูก ลิ้น กายเสื่อมโทรมลงนั้น แทนที่จะเห็นว่าเป็นโทษมหันต์กลับเห็นว่า เป็นคุณอนันต์ แต่ก็ยังสงสัยอยู่ข้อหนึ่ง จึงเอ่ยปากถามเจ้าแม่ปถพีว่า "ทำไมเจ้าแม่จึงทำลายสมรรถภาพทางจิตใจของผมด้วยเล่า เวลานี้สมรรถภาพทางใจของผมเสื่อมโทรมลงมาก เฉพาะอย่างยิ่งในด้านความจำผมลืมสิ่งของเครื่องใช้เล็กๆ น้อยๆ เก่ง เช่น ลูกกุญแจ ปากกา แว่นตา นาฬิกา หนังสือ และเอกสารที่ต้องการใช้ บางทีถึงกับลืมกระเป๋าสตางค์พร้อมด้วยเอกสารมีค่าต่างๆ ในนั้น"
เจ้าแม่ปถพีหัวเราะเบาๆ แล้วตอบว่า "นั้นคือบทเรียนอันมีค่าที่ฉันเริ่มสอนคุณ ตามธรรมดาคนในโลกนี้เมื่อมีสมบัติสิ่งใด ก็มักจะยึดติดในสิ่งนั้นว่าเป็นของตน (มมังการ) บางทีถึงกับถือว่า สิ่งนั้นเป็นตนเอง (อหํการ) ถ้าสมบัติใดๆ หายไปจะเกิดความเสียดาย เสียใจ ประหนึ่งว่าอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งขาดหายไป บางคนซื้อรถยนต์มาใหม่ๆ เขาจะรู้สึกว่ารถยนต์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของตนเอง ถ้ามีใครเอาของมีคมมากรีดข้างรถยนต์นั้น เขาจะรู้สึกเจ็บแสบเข้าไปในหัวใจ ประหนึ่งว่าหัวใจของตนถูกกรีด ฉันจึงสอนให้คุณลืมสมบัติเล็กน้อยไปก่อน เป็นการเตรียมใจ เมื่อถึงคราวที่คุณจะต้องละสมบัติทั้งปวงไป"
"บางที ผมก็ลืมชื่อคนที่เคยรู้จักกันมาเป็นอย่างดี จำหน้าเขาได้ แต่จำชื่อไม่ได้ พยายามนึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออก จึงสนทนากับเขาไปโดยมิได้ทักทายชื่อ เมื่อเขาเดินจากไปแล้ว จึงนึกชื่อของเขาขึ้นมาได้ ครั้นจะวิ่งตามไปทักชื่อเขาใหม่ ก็ไม่ทันเสียแล้ว บางทีก็นึกโกรธตนเอง"
"นั้นก็ดีแล้ว" เจ้าแม่ปถพีพูดหัวเราะเบาๆ "คุณก็รู้อยู่แล้วว่า ในบรรดาความรัก ความผูกพัน ความยึดมั่นถือมั่นนั้น ไม่มีอะไรจะผูกมัดรัดแน่นได้เท่ากับคนที่ตนรัก เฉพาะอย่างยิ่งคือ การรักมั่นผูกพันกับสามี ภรรยา และลูกหลาน ฉันจึงฝึกหัดให้คุณลืมเขาเสียบ้าง เบื้องต้นก็ฝึกให้ลืมชื่อเขาเสียก่อน ต่อไปก็ค่อยๆ ฝึกให้ลืมรูปร่างหน้าตาของเขา แม้แต่เห็นหน้าเขาก็จำไม่ได้ เข้าใจว่าเป็นคนอื่น ถ้าถึงขั้นนั้น จิตใจของคุณจะเบาสบายยิ่งขึ้น พร้อมที่จะไปสู่ปรโลกด้วยจิตใจที่เบาสบายและเป็นอิสรเสรี
"ผมเข้าใจ" ข้าพเจ้ายอมรับ แต่ก็ยังสงสัยว่า ทำไมผมจึงทำให้ผมเจ็บปวด ตามร่างกายมากนัก ยิ่งแก่ตัวลงก็ยิ่งเจ็บปวดมากขึ้น เช่นปวดแข้ง ปวดขา ปวดหลัง ปวดเอว ปวดข้อ ปวดคอ เป็นต้น
"นั้นเป็นบทเรียนชั้นสูงที่ฉันต้องการจะสอนให้คุณรู้จักสัจธรรมคือ ความทุกข์ การรู้แจ้งทุกข์มีประโยชน์มาก ประโยชน์ชั้นต่ำ จะทำให้จิตใจคุณคุ้นเคยกับทุกข์ เมื่อความทุกข์เกิดขึ้น จะไม่ทุกข์มาก จะไม่เสียขวัญ จะแก้ทุกข์ตามเหตุปัจจัย จะเห็นว่าทุกข์เป็นบทเรียนอันมีค่า ทุกข์จะช่วยชุบชีวิตให้เข้มแข็ง
ประโยชน์ชั้นกลาง เมื่อเห็นทุกข์ในตนแล้ว จะเห็นทุกข์ในผู้อื่น สัตว์อื่น แล้วจะเกิดความเมตตากรุณาในผู้อื่น เมื่อเกิดความเมตตากรุณาในผู้อื่นแล้วจะไม่เบียดเบียนเขาโดยประการทั้งปวง มีแต่จะช่วยเหลือเกื้อกูลเขา ประโยชน์ชั้นสูง ถ้าเห็นทุกข์อย่างแจ่มแจ้งจะเกิดความเบื่อหน่ายในทุกข์ ในการเวียนว่ายตายเกิด แล้วจะดำเนินตามหลักอริยมรรคมีองค์ 8 อย่างจริงจังเพื่อความพ้นทุกข์
พอพูดจบเจ้าแม่ปถพีผู้รอบรู้ในธรรมก็กล่าวว่า "เอาละนะ ฉันจะต้องรีบไปทวงหนี้ที่อื่นๆ อีก" ว่าแล้วก็ค่อยๆ จมน้ำหายไป ข้าพเจ้าลุกขึ้นยืนเตรียมจะเดินจากไปเช่นกัน แต่แล้วก็ต้องสะดุ้งเพราะได้ยินเสียงเรียกมาจากด้านหลังอีก
คำสั่งสุดท้าย
"อาจารย์แสง...ฉันลืมบอกเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง"
"เรื่องอะไร"
"คือ เมื่อคุณอายุประมาณ 65 ปี ฉันจะทำให้หมอนรองกระดูกที่เอวของคุณเสื่อม แล้วกระดูกจะไปทับประสาท ทำให้คุณเจ็บปวดเอวมากเวลานั่ง และเวลาเดิน เพื่อช่วยให้คุณบรรเทาอาการปวดเอว เวลาเดินคุณจะต้องโก่งลำตัวลงทีละน้อยๆ เพื่อให้ข้อกระดูกสันหลังที่เอวห่างออกจากกัน ไม่กดทับประสาท อาการปวดจะหายไปชั่วคราว แต่พอนานนานไป คุณจะเดินตัวตรงไม่ได้ ต้องเดินหลังค่อมต่อไปจนตาย คุณจะต้องถือไม้เท้าไว้ เพื่อช่วยการทรงตัวไว้มิให้ล้ม คุณจะกลายเป็นตาเฒ่าหลังโกง"
"เจ้าแม่ทำอย่างนั้นทำไม"
"ทำเพื่อเตือนให้คุณรู้ตัวว่า เวลาที่คุณจะต้องกลับคืนสู่แผ่นดินใกล้เข้ามาแล้ว ให้คุณเลือกดูให้ดีว่า จุดไหนที่จะเป็นจุดที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการกลับคืนสู่แผ่นดิน เท่านั้นแหละ ลาก่อนนะ พบกันอีกเมื่อคุณ อายุ 70 ปี" ว่าแล้วเจ้าแม่ปถพีก็ผลุบลงไปใต้ผิวน้ำหายไป
เมื่ออายุ 70 ปี ข้าพเจ้าเข้านอนโรงพยาบาล 2 สัปดาห์ เพราะโรคสารพิษในกระแสเลือดมากกว่าปกติถึง 4 เท่า คิดว่า เจ้าแม่ปถพีจะมารับเอาตัวไปแน่ๆ แต่ก็น่าประหลาดใจที่ต่อมาก็หายเป็นปกติและอยู่ต่อมาจนถึงอายุ 82 ปีในบัดนี้ เข้าใจว่า เจ้าแม่ปถพีคงมัวไปเที่ยวทวงหนี้ทั่วโลก จนลืมข้าพเจ้าไปชั่วระยะหนึ่ง แต่ในที่สุดท่านก็จะเอาสมบัติชิ้นนี้ของท่านไป เพราะท่านเป็นเจ้าหนี้ที่จำลูกหนี้ได้แม่นยำที่สุด ไม่มีใครจะเบี้ยวหนี้ของท่านได้ แม้แต่มดตัวน้อย ๆ
******************
คติธรรม ส.ค.ส. 2553


1. ฉันเหงา เพราะคิดว่า ฉันไม่มีเพื่อน เมื่อฉันรู้ว่าในโลกนี้มีเพื่อนร่วมทุกข์ของ
ฉันอยู่ไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านคน ความเหงาจักมาแต่ที่ไหน
2. ฉันเหงาเพราะความปรารถนาอันล้ำลึก ไม่ได้รับการตอบสนอง เมื่อไม่มีความ
ปรารถนาอันล้ำลึก ความเหงาจักมาแต่ที่ไหน
3. ฉันเศร้า เพราะบุคคลและสิ่งอันเป็นที่รักพรากจากไป เมื่อไม่มีความยึดไว้ ความเศร้าจัก
มาแต่ที่ไหน
4. ฉันผิดหวัง เพราะฉันหวังเพียงด้านเดียวหรือ 2 ด้าน ที่ฉันชอบ ถ้าฉันหวังไว้ทุกๆด้าน
ความผิดหวังจักมาแต่ไหน
5. ฉันอยากได้ อยากมี อยากเป็น เพราะหลงว่าดี ว่างาม ตามโลกสมมุติ
เมื่อไม่หลงสมมุติความอยากจักมีแต่ที่ไหน
6. ฉันโกรธเพราะสิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปตามที่ฉันหวัง เมื่อไม่มีความหวังใดๆ
ความโกรธจักมาแต่ที่ไหน
7. ฉันหลงเพราะฉันมองแต่เปลือกนอก ถ้าฉันมองทะลุปรุโปร่ง ทั้งข้างนอกข้างใน
 ความหลงจักมาแต่ที่ไหน
8. ฉันทุกข์ เพราะฉันวิ่งไล่หาความสุขจากภายนอก ถ้าฉันหยุดวิ่ง แล้วหันเข้าหาความสุข
ภายในจิตใจเดิม ความทุกข์จักมาแต่ที่ไหน
จบข้อคิดท้ายเล่ม
ด้วยความขอบพระคุณศ.เกียรติคุณ แสง จันทร์งาม เจ้าของนามปากกา "ธรรมโฆษ" เป็นอย่างยิ่ง ขอพละพลังความเอื้อเฟื้อที่ท่านมอบเป็นวิทยาทานแก่สังคม เป็นผลบุญเกื้อหนุนให้ท่านมีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจตราบนานเท่านาน และขอให้ข้อคิดที่ฉันได้รับเป็นข้อคิดที่ผู้อ่านทุกท่านได้รับเช่นกัน


เหยือกเต็มหรือยัง?
ชายหนุ่มคนหนึ่งได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยเอกชน เพื่อให้เป็นวิทยากรพิเศษสอนวิชาปรัชญาให้กับนักศึกษาปริญญาโท เขาเตรียมการสอนอยู่หลายวันจึงตัดสินใจจะสอนนักศึกษาเหล่านั้นด้วยแบบฝึกหัดง่าย ๆ แต่แฝงไว้ด้วยข้อคิด
         เขาเดินเข้าห้องเรียนมาพร้อมด้วยของสองสามอย่างบรรจุอยู่ในกระเป๋าคู่ใจ เมื่อได้เวลาเรียน เขาหยิบ เหยือกแก้ว ขนาดใหญ่ขึ้นมา แล้วใส่ ลูกเทนนิส ลงไปจนเต็ม พวกคุณคิดว่าเหยือกเต็มหรือยัง? เขาหันไปถามนักศึกาาปริญญาโท แต่ละคนมีสีหน้าตาครุ่นคิดว่าอาจารย์หนุ่มคนนี้จะมาไม้ไหนก่อนจะตอบพร้อมกัน เต็มแล้ว เข้ายิ้ม ไม่พูดอะไรต่อ หันไปเปิดกระเป๋าเอกสารคู่ใจ หยิบกระป๋องใส่กรวดออกมา แล้วเท กรวดเม็ดเล็ก ๆ จำนวนมากลงไปในเหยือก พร้อมกับเขย่าเหยือกเบา ๆ
กรวดเลื่อนไหลบงไปอยู่ระหว่างลูกเทนนิสอัดจนแน่นเหยือก เขาหันไปถามนักศึกษาอีก
เหยือกเต็มหรือยัง ?
        นักศึกษามองดูอยู่พักหนึ่งก่อนจะหันมาตอบ “เต็มแล้ว...” เขายังยิ้มเช่นเดิม หันไปเปิดกระเป๋า หยิบเอาถุงทรายใบย่อมขึ้นมา และเพทรายจำนวนไม่น้อยใส่ลงไปในเหยือก เม็ดทราย ไหลลงไปตามซ่องว่างระหว่างกรวดกับลูกเทนนิสได้อย่างง่ายดาย เขาเทจนทรายหมดถุง เขย่าเหยือกจนเม็ดทรายอัดแน่นจนแทบล้นเหยือกเขาหันไปถามนักศึกษาอีกครั้งหนึ่ง “เหยือกเต็มทรือยัง” เพื่อป้องกันการหน้าแตกนักศึกษาปริญญาโทรเหล่านั้นหันมามองหน้ากัน ปรึกษากันอยู่นาน หลายคนเดินก้าวเข้ามาก้มๆ เงย ๆ มองเหยือกตรงหน้าอาจารย์หนุ่มอยู่หลายครั้ง มีการปรึกษาหารือกันเสียงดังไปทั้งห้องเรียน จวบจนเวลาผ่านไปเกือบห้านาที หัวหน้ากลุ่มพระนักศึกษาจึงเป็นตัวแทน เดินเข้ามาตอบอย่างหนักแน่น “คราวนี้เต็มแน่นอนครับอาจารย์” “แน่ใจนะ” แน่ซะยิ่งกว่าแน่อีกครับ
      คราวนี้เขาหยิบ น้ำอัดลม สองกระป๋องออกมาจากใต้โต๊ะ แล้วเทใส่เหยือกโดยไม่ รีรอ ไม่นานน้ำอัดลมก็ซึมผ่านทรายลงไปจนหมด ทั้งชั้นเรียน หัวเราะฮือฮากันยกใหญ่ เขาหัวเราะอย่างอารมณ์ดี ไหนพวกคุณบอกว่าเหยือกเต็มแน่ ๆ ไง” เขาพูดพลางยกเหยือกขึ้น “ผมอยากให้พวกคุณจำบทเรียนวันนี้ไว้ เหยือกใบนี้ก็เหมือนชีวิตคนเรา
ลูกเทนนิส เปรียบเหมือน เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิต เช่น ครอบครัว คู่ชีวิต การเรียน
สุขภาพ ลูก พ่อแม่ และเพื่อน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่คุณต้องสนใจจริงจัง สูญเสียไปไม่ได้เม็ดกรวด เหมือนสิ่งสำคัญรองลงมา เช่น งาน บ้าน รถยนต์ ทราย ก็คือ เรื่องอื่น ๆ ที่เหลือเรื่องเล็ก ๆ น้อยๆ ที่เราจำเป็นต้องทำ แต่เรา มักจะหมกมุ่นอยู่กับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ เหยือกนี้เปรียบกับชีวิตของคุณ ถ้าคุณใส่ทรายลงไปก่อน คุณจะมัวหมกมุ่นอยู่กับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่ตลอดเวลา
         ชีวิตเต็มแล้ว...เต็มจนไม่มีที่เหลือให้ใส่กรวด ไม่มีที่เหลือใส่ให้ลูกเทนนิสแน่นอน”
ชีวิตของคนเราทุกคน ถ้าเราใช้เวลาและปล่อยให้เวลาหมดไปกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เราจะไม่มีที่ว่างในชีวิตไว้สำหรับเรื่องสำคัญกว่า
    เพราะฉะนั้นในแต่ละวันของชีวิต เราต้องให้ความสนใจกับเรื่องที่ทำให้ตัวเราและครอบครัวมีความสุข ใช้ชีวิตเล่นกับลูก ๆ หาเวลาไปตรวจร่างกาย พาคู่ชีวิตกับลูกไปพักผ่อนในวันหยุด พากันออกกำลังกาย เล่นกีฬาร่วมกันสักชั่วโมง สองชั่วโมง เพื่อสุขภาพและความสัมพันธ์ที่ดีในชีวิต พาพ่อแม่ไปเที่ยวพักผ่อนหรือทานข้าว โทรศัพท์หาเพื่อนบ้างให้รู้ว่าเรายังคิดถึงและเป็นห่วง เราต้องดูแลเรื่องที่สำคัญที่สุดจริงๆๆ ดูแลลูกเทนนิสของเราก่อนเรื่องอื่นทั้งหมด หลังจากนั้นถ้ามีเวลาเหลือเราจึงเอามาสนใจกับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา นักศึกษาคนหนึ่งยกมือขึ้นถาม “แล้วน้ำที่อาจารย์เทใส่ลงไปล่ะครับ หมายถึงอะไร?
      เขายิ้มพร้อมกับบอกว่า “การที่ใส่น้ำลงไปเพราะอยากให้เห็นว่า ไม่ว่าชีวิตของเราจะวุ่นวายสับสนเพียงใด ในความสับสนและวุ่นวายเหล่านั้น คุณยังมีที่ว่างสำหรับการแบ่งปันน้ำใจ  ให้กันเสมอ...” แล้วเหยือกของคุณล่ะ ....เต็มหรือยัง??
********************
พอเพียงแค่ไหนถึงจะเพียงพอ

โดย พระไพศาล วิสาโล
   ใครที่ไปเยือนวัดป่าซึ่งตั้งในถิ่นทุรกันดาร และได้เห็นวิถีชีวิตของพระที่นั่น รวมทั้งได้ฟังคำสอนของท่าน อาจมีความเข้าใจว่าว่าพุทธศาสนานั้นปฏิเสธความสบาย เพราะแม้แต่อาหารก็ฉันเพียงมื้อเดียว ไฟฟ้าก็ไม่ต่อเข้ามา แถมยังสร้างกุฎิในป่าลึกดูน่าอันตราย ความจริงแล้ว พุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธความสบาย กลับเห็นว่าความสบายเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ชีวิตเป็นสุข เมื่อพระพุทธองค์ตรัสสอนเรื่อง "อายุวัฒนธรรม" หรือธรรมที่ส่งเสริมสุขภาพและช่วยให้อายุยืน ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงยกมาเป็นข้อแรกก็คือ "สัปปายการี" ได้แก่ การทำสิ่งที่สบาย หรือการทำตนให้สบาย ในหมวดธรรมว่าด้วย "กามโภคี" หรือผู้ครองเรือน พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญผู้ที่นอกจากแสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรมแล้ว ยังรู้จักเลี้ยงตนให้อิ่มหนำเป็นสุขและสบาย ขณะเดียวกันทรงตำหนิคนรวยที่ตระหนี่ แม้กระทั่งอาหารก็กินอย่างกระเบียดกระเสียร หรือทำตัวให้ลำบาก เพราะเสียดายทรัพย์ อย่างไรก็ตาม การที่พุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่ความสบาย ไม่ใช่เพราะว่ามันดีโดยตัวมันเอง หากแต่เป็นเพราะว่าความสบายนั้นเป็นสิ่งที่เกื้อกูลต่อชีวิต ช่วยให้ชีวิตเจริญงอกงามและเข้าถึงความสุขที่ประณีตลึกซึ้ง ตรงนี้ต้องอธิบายก่อนว่าความสุขของคนเรานั้นมีสี่ประเภทได้แก่
1. ความสุขทางกาย หรือความสุขจากการเสพและการใช้ทรัพย์
2. ความสุขทางศีล หรือความสุขจากการมีพฤติกรรมดีงาม และมีสัมพันธภาพที่ราบรื่นกับผู้อื่น
3. ความสุขทางจิต เช่น เกิดปีติ มีสมาธิ ผ่อนคลาย ปลอดโปร่ง
4. ความสุขทางปัญญา หรือความสุขเนื่องจากความรู้แจ้งในสัจธรรม จนเป็นอิสระหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง
  พุทธศาสนาถือว่าความสบายหรือความสุขทางกาย จะต้องเป็นไปเพื่อเกื้อกูลความสุขสามประเภทหลัง หรือทำให้พฤติกรรม (ศีล) จิต และปัญญา เจริญงอกงามขึ้น เช่น เมื่อมีความเป็นอยู่ผาสุกและสบายแล้ว ก็ควรช่วยเหลือผู้อื่น ด้วยการให้ทานแก่ผู้ยากไร้ บริจาคทรัพย์ให้แก่ส่วนรวม หรือสละเวลามาทำประโยชน์แก่สังคม พร้อมกันนั้นก็ใช้ความสะดวกสบายนั้นเพื่อการบำเพ็ญภาวนาทางจิตและปัญญา กล่าวคือเมื่อความจำเป็นในการทำมาหากินลดน้อยลง ก็มีเวลาให้แก่การทำสมาธิภาวนามากขึ้น หรือใช้อาคารบ้านเรือนที่สะดวกสบายนั้นเป็นประโยชน์แก่การเจริญกรรมฐาน ในหมวดธรรมว่าด้วย "สัปปายะ" หรือความสบายทั้ง 7 ประการนั้น (เช่น ที่อยู่ซึ่งไม่พลุกพล่าน แหล่งอาหารที่ไม่ใกล้ไม่ไกลเกินไป อาหารที่เหมาะกับร่างกาย) จะเห็นได้ว่าล้วนเป็นไปเพื่อการบำเพ็ญภาวนาโดยตรง
  กล่าวอีกนัยหนึ่ง พุทธศาสนาไม่สรรเสริญการถือเอาความสบายเป็นเป้าหมาย หรือหยุดแค่ความสบาย แต่จะต้องก้าวต่อไปโดยใช้ความสบายนั้นให้เกิดประโยชน์ คนที่หยุดแค่ความสบายแล้ว ไม่ทำอะไรต่อจัดว่าเป็นคนขี้เกียจ ตรงนี้เป็นประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจให้ชัด เพราะมีความเข้าใจในหมู่คนทั่วไปว่าเมื่อสบายแล้วไม่ทำอะไรต่อ ถือว่า "สันโดษ" ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่พุทธศาสนาสรรเสริญ ความจริงแล้ว สันโดษในพุทธศาสนา (ความพอใจในสิ่งที่ได้มาโดยชอบธรรม) นั้น มีเป้าหมายเพื่อให้รู้จักพอในความสบายทางกาย หรือรู้จักพอในการเสพ เพื่อจะได้เอาเวลาและกำลัง (ทั้งกาย ทรัพย์ ปัญญา) ไปใช้ในการทำสิ่งดีงามที่เรียกว่า "กุศลธรรม" ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป กล่าวโดยสรุปก็คือ ทรงสอนให้สันโดษในทรัพย์หรือสิ่งเสพ แต่ไม่ให้สันโดษในกุศลธรรม ตรงนี้เป็นข้อที่แตกต่างอย่างสำคัญระหว่างพุทธศาสนากับลัทธิบริโภคนิยม บริโภคนิยมนั้นถือว่าความสบายเป็นเป้าหมายในตัวมันเอง ยิ่งสบายเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น และจะไม่หยุดดิ้นรนแสวงหาหากมีสิ่งอื่นที่สบายกว่า ถึงจะมีเสื้อเนื้อประณีตหลายตัวแล้วก็ยังไม่พอใจ เพราะมีเสื้อที่นุ่มเนียนกว่านั้นวางขายอยู่ มีโทรศัพท์มือถือที่รวดเร็วทันใจแล้วก็ยังไม่พอใจ เพราะมีรุ่นใหม่ที่พูดคุยได้โดยไม่ต้องกดหมายเลข มีรถที่ขับสบายอยู่แล้วก็ยังไม่พอใจ เพราะรุ่นใหม่ที่เพิ่งออกมาขับสบายกว่านั้นอีก ในขณะที่พุทธศาสนาบอกว่าเราไม่ควรหยุดแค่ความสบายหรือความสุขทางกาย แต่ควรไปให้ถึงความสุขจากศีล จิต และปัญญาที่เจริญงอกงาม บริโภคนิยมก็บอกเช่นกันว่าเราไม่ควรหยุดที่ความสบายในขณะนี้ แต่จะต้องสบายให้มากไปกว่านี้
  ปัญหาก็คือความสบายกับความสุขนั้น บ่อยครั้งก็ไม่ได้ไปด้วยกัน เมื่อเพิ่มความสบายไปถึงจุดหนึ่ง ความสุขก็ลดลง เพราะผลเสียของความสบายนั้นสะสมมากขึ้นจนแสดงตัวออกมา ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ คนที่รักสบาย เอาแต่นั่งๆ นอนๆ หรือทำงานเบาๆ ไม่ยอมออกกำลังกาย ถึงเวลาพักผ่อน ก็นั่งดูโทรทัศน์ ดูไปก็กินขนมขบเคี้ยวไป จะไปไหนมาไหน ก็ไม่ยอมเดินหรือขึ้นบันได แต่ใช้รถกับลิฟต์ ไม่ช้าไม่นานก็จะเจ็บป่วยด้วยโรคนานาชนิด อาทิ โรคหัวใจ โรคอ้วน เบาหวาน ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า "โรคขี้เกียจ" ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของทั้งโลกรวมทั้งประทศไทย
  แต่นอกจากความทุกข์ทางกายแล้ว ความทุกข์ทางใจก็เพิ่มพูนด้วย เพราะความสบายนั้นต้องอาศัยทรัพย์ ยิ่งอยากสบายมากเท่าไร ก็ยิ่งต้องมีทรัพย์มากเท่านั้น และเมื่อมีทรัพย์มาก ก็ย่อมเกิดความกังวลเป็นธรรมดา เช่น ต้องคอยหวงแหนทรัพย์ จอดรถราคานับสิบล้านที่แสนสบายไว้ข้างถนน ก็คอยเป็นห่วงว่าจะมีคนมาขโมยหรีอขีดข่วนให้เสียโฉม จะใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ราคาแพงก็ต้องคอยระวังว่าจะมีคนมาวิ่งราวเอาไป ใครจะมายืมก็หวงไม่อยากให้ใช้ ความสัมพันธ์กับเพื่อนก็แย่ลง ยิ่งมีทรัพย์มากเท่าไร ก็ยิ่งเห็นทรัพย์สำคัญกว่าคน อีกทั้งไม่แน่ใจว่าใครเป็นเพื่อนแท้บ้าง จึงหวาดระแวง ผลก็คือความสัมพันธ์กับผู้คนตกต่ำลง ทำให้มีความทุกข์มากขึ้น ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงการติดยึดความสบาย จนทำทุกอย่างแม้จะผิดศีลก็ตาม เพื่อให้มีทรัพย์มาสนองความสบาย วิถีชีวิตแบบนี้แม้สบายกาย แต่ร้อนรุ่มใจ จึงอยากที่จะมีความสุขได้อย่างแท้จริง ความสบายหรือความสุขจากทรัพย์จึงมีขีดจำกัด คือมีจุดพอดีของมัน หากเลยจากจุดนั้นไปแล้ว จะทำให้ชีวิตมีความสุขน้อยลง คนที่มีความสุขคือคนที่รู้จักสบายแต่พอดี ด้วยเหตุนี้ในหมวดธรรมว่าด้วยการมีอายุยืน หรือ "อายุวัฒนธรรม" หลังจากที่พระพุทธองค์ตรัสข้อแรกว่าให้รู้จักทำตัวให้สบายแล้ว ได้ตรัสข้อที่สองตามมาว่าให้รู้จักประมาณในความสบาย หาไม่แล้วชีวิตจะไม่เป็นสุขและอายุสั้น
  ชีวิตพอเพียงคือชีวิตที่รู้จักสบายแต่พอดี ไม่เพลิดเพลินหมกมุ่นกับความสุขจากสิ่งเสพ หรือมัวแต่แสวงหาทรัพย์และสะสมเงินทองอย่างไม่รู้จักพอ ขณะเดียวกันเมื่อพอเพียงในความสบาย หรือหาทรัพย์ได้พอเพียงแล้ว ก็ไม่หยุดเพียงเท่านั้น แต่หันไปพากเพียรในการสร้างความดีงามหรือความเจริญด้านอื่นๆ ต่อไปให้ยิ่งกว่าเดิม ทั้งในด้านศีล จิต และปัญญา ทั้งในส่วนที่เป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน เมื่อชีวิตเจริญงอกงามในทางศีล จิต และปัญญา เราก็จะพึ่งวัตถุน้อยลง ธรรมชาติของคนเรานั้นย่อมโหยหาความสุข เมื่อมีความสุขทางใจเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ได้รับความอบอุ่นท่ามกลางกัลยาณมิตรที่เอื้ออาทร ความสุขจากทรัพย์หรือสิ่งเสพก็จะมีความสำคัญน้อยลง ดังนั้น ยิ่งเข้าถึงความสุขทางใจได้มากเท่าไร ความต้องการทรัพย์หรือสิ่งเสพก็จะลดลงมากเท่านั้น ถึงตรงนี้ความสบายจะพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง คืออิงอาศัยวัตถุสิ่งเสพน้อยลง ดังนั้นแม้จะอยู่บ้านหลังเล็กๆ มีทรัพย์สมบัติไม่มาก หรืออยู่ในป่าที่หลีกเร้น มีบริขารแค่ไม่กี่ชิ้น ก็มีทั้งความสุขและความสบายได้ ยิ่งมีปัญญารู้ชัดว่าสิ่งเหล่านี้ไม่อาจยึดติดถือมั่นได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน มีเท่าไร ก็ยังสุขและสบายอยู่นั่นเอง เพราะจิตเป็นอิสระและปลอดโปร่งอย่างสิ้นเชิง นี้ใช่ไหมคือจุดหมายสูงสุดของชีวิตพอเพียง