พุทธทาสภิกษุและมหาตมะ คานธี กับปรัชญาการเมือง
*************
หลักแนวความคิดที่สำคัญ
ของพุทธทาสภิกขุ กับ มหาตมะ คานธี
๑.
แนวความคิดทางการเมืองของพุทธทาสภิกขุนั้น
มีพื้นฐานแนวความคิดอิงหลักทางพระพุทธศาสนา
เป็นสำคัญโดยการประยุกต์ใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเถรวาท
พระพุทธศาสนานิกายเซน และศาสนาอื่น ๆ เช่น คริสต์ศาสนา เป็นต้น
คุณค่าการประยุกต์ใช้หลักธรรมทางศาสนา
กับแนวความคิดทางการเมืองของท่านสามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ ส่วนคือ
ส่วนแรก แนวความคิดของท่านมีคุณค่าทางด้านจิตใจ
ด้วยท่านเสนอว่า ระบบการเมืองใดก็ได้ถ้าหากประกอบด้วยธรรมแล้ว
ถือว่าเป็นรูปแบบการเมืองที่ดีที่สุดในทัศนะของท่าน
ท่านได้เสนอแนวความคิดทางการเมืองแบบ
“ธรรมิกสังคมนิยม” เราอาจนำความคิดของท่านไปเป็นระบบจริยธรรมทางการเมือง หรือ
ทางรัฐศาสตร์ อุดมคติทางการเมืองและเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองได้
ส่วนที่สอง
ด้านการบริหารจัดการการปกครองนั้น ท่านเห็นว่าปกครองสามารถใช้วิธีการเผด็จการโดยธรรมได้ในคราวจำเป็น
ท่านเสนอให้เป็นข้อเลือกของผู้ปกครองที่จะนำวิธีการนี้ในบางคราวของเหตุการณ์บ้านเมือง
แต่ผู้ปกครองนั้นต้องมีธรรมกำกับ จึงจะเป็นระบบการปกครองที่ดีที่สุด
ท่านเน้นการประยุกต์ใช้หลักธรรมสำหรับผู้ปกครองมากกว่าผู้อยู่ใต้ปกครอง
ด้วยเหตุผลว่า
การประยุกต์ใช้หลักธรรมกับผู้ปกครองเพียงคนเดียวง่ายกว่าจะทำให้ผู้อยู่ใต้ปกครองจำนวนมากมีธรรม
แนวความคิดทางการเมืองแบบ “ธรรมิกสังคมนิยม) เป็นสังคมนิยม” เป็นสังคมนิยมอุดมคติ
ท่านเน้นการไม่สะสมส่วนเกิน การไม่เห็นแก่ตัว
ทุกคนคิดถึงผลประโยชน์ส่วนรวมมีความเอื้อเฟื้อเพื่อแผ่เมตตากรุณาต่อกัน
ต้องทำงานในส่วนของตนและเจียดจ่ายส่วนเกินให้แก่ผู้อื่น แม้ว่าแนวความคิดทางการเมืองแบบนี้จะมีความแตกต่างระหว่างชนชั้น
แต่ความแตกต่างระหว่างชนชั้นนั้นเต็มไปด้วยความเมตตา กรุณาต่อกัน หลักธรรมที่
พุทธทาสภิกขุ นำมาประยุกต์ใช้กับ “ธรรมิกสังคมนิยม”คือหลัก
ทศพิธราชธรรม, มรรคมีองค์ ๘, โพชฌงค์ ๗, อิทธิบาท ๔, ศีล สมาธิ ปัญญา และหลักเมตตาธรรมเป็นต้น ๒. แนวความคิดทางการเมืองของมหาตมะ คานธี คิดว่า
ท่ามกลางปัญหา และความขัดแย้งต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องแก้ไขด้วยวิธีการรุนแรง
หรือวิธีแห่งสงครามเสมอไป มนุษย์ยังมีทางเลือกอื่นช่วยในการลดปัญหาความขัดแย้ง
ซึ่งท่านเรียกว่า หลักอหิงสา คือความไม่เบียดเบียน
เป็นวิธีที่ลดปัญหาความขัดแย้งได้
และท่านก็ได้นำวิธีดังกล่าวมาใช้เรียกร้องเอกราชให้กับอินเดีย หลักอหิงสา
ตามปรัชญาของคานธี คือความไม่เบียดเบียน
ซึ่งถือว่าเป็นหลักใหญ่และเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุด โดยจะสามารถแยกได้ดังนี้
๑.
ความรัก เป็นหัวใจของอหิงสา ไม่มีใครที่จะสามารถต้านทางความรักที่บริสุทธิ์ได้
และด้วยความรักที่บริสุทธิ์นี้
ท่านได้ชนะจิตใจของประชาชนและชนะจิตใจศัตรูของท่านได้
๒. ความอดทน หลักอหิงสา ต้องอาศัยความอดทนอย่างใหญ่หลวง จึงจะสามารถนำผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่มาได้
มันไม่ใช่วิธีที่จะได้มาในเพียงชั่วข้ามคืน แต่ก็เป็นวิธีที่แน่นอนและถูกต้องที่สุดในการที่จะเอาชนะจิตใจ
และความรักจากผู้อื่นได้
๓. ความกล้าหาญ หมายถึง การปราศจากความกลัวในทุกลักษณะ เช่น ความกลัวตาย ความกลัวความประทุษร้าย
กลัวความยากจน หิวโหย เป็นต้น ซึ่งชีวิตของคานธี
ก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของบุคคลที่กล้าหาญ
และปราศจากความกลัว
๔. ความบริสุทธิ์ คานธี
จะค่อยตรวจสอบชำระจิตใจของตัวเองให้บริสุทธิ์อยู่เสมอในทางการเมือง คานธี
จะใช้วิธีสงบแต่เฉียบขาด บนพื้นฐานของความบริสุทธิ์ และความยุติธรรมเสมอ
เมื่อใดที่ท่านเห็นว่าประชาชนของท่านเริ่มใช้วิธีรุนแรง
ท่านจะทักท้วง และถ้าจำเป็นท่านก็จะหยุดความเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งหมด
โดยจะหันมาสำรวจความบกพร่องของตนเองและประชาชนของท่าน
๕. ความซื่อสัตย์และความจริงใจ มหาตมะ คานธี เชื่อว่า ทั้ง ๒ สิ่งนี้
จะช่วยให้พ้นจากความทุกข์
และภาระยุ่งยากทั้งปวงที่จะเกิดขึ้นได้
ความตั้งใจจริงของ คานธี ที่จะดำเนินตามหลักอหิงสา ทำให้เขากลายเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องจากที่ต่าง
ๆ เช่นหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ ได้เคยกล่าวสรรเสริญ คานธี ไว้ตอนหนึ่งว่า
“เขาเป็นบุคคลที่มีไม่อันตราย เขาได้ทิ้งพลังทางใจไว้ให้อนุชนรุ่นหลังไว้เป็นมรดก
ซึ่งสักวันหนึ่งในกาลข้างหน้า
อำนาจพลังทางใจดังกล่าวจักต้องมีเหนือกำลังรบและอาวุธยุทธภัณฑ์
และเหนือลัทธิประหัตประหารกันอย่างหฤโหด”
มหาตมะ
คานธี มีพื้นฐานความคิด
อิงหลักศาสนาฮินดู โดยการประยุกต์ใช้หลักธรรมทางศาสนาฮินดู
คุณค่าแนวความคิดของท่านอาจแบ่งได้เป็น ๒ ส่วน
ส่วนแรก คุณค่าทางด้านจิตใจ
โดยท่านได้นำวิธีการแบบ “อหิงสา” มาใช้กับแนวความคิดของท่าน อหิงสา
เป็นผลของหลักสัตยาเคราะห์ในภาคปฏิบัติ
หลักการสัตยาเคราะห์เป็นหลักการที่ท่านสร้างขึ้นมาเองโดยท่านได้รับอิทธิพลจากการขัดเกลาทางสังคมระหว่างศาสนาต่าง
ๆ การใช้วิธีต่อสู้ทางการเมืองแบบ “อหิงสา”
เป็นแบบจริยธรรมของอินเดีย คือการไม่ใช้ความรุนแรง (Non-Violence) และเน้นพลังแห่งความรัก
พลังแห่งความดีงามมาแก้ปัญหาทางการเมือง
รวมทั้งผู้ปกครองจะต้องเอื้ออำนวยต่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว ท่านเน้นหลักธรรมสำหรับผู้ที่อยู่ในสังคมทุกคน
ส่วนที่สอง ในทางการเมือง มหาตมะ
คานธี นำวิธีการ “อหิงสา”
มาเป็นวิธีกาต่อต้านผู้ปกครองที่ไม่ธรรมจนประสบความสำเร็จนำเอกราชมาสู่อินเดียได้
สัตยาเคราะห์เป็นทั้งหลักการ การบริหารจัดการและเป็นขบวนการต่อสู้ทางการเมืองแบบเฉพาะของ
มหาตมะ คานธี หลักการเด่นของ “สัตยาเคราะห์” คือการไม่ใช้ความรุนแรง (Non-Violence) เป็นการต่อสู้ระหว่างความดี และความชั่ว
สัตยาเคราะห์ขึ้นอยู่กับหลักการ ๒ อย่างคือ
๑.
สัจธรรมและศรัทธาในสัจธรรม
๒. การดำเนินการอย่างต่อเนื่องและมั่งคง
และหลักการสัตยาเคราะห์นี้จะต้องบรรลุถึงวัตถุประสงค์ตามหลักธรรม
๓ ประการคือ
๑.
สัจธรรม
(Truth)
๒.
อหิงสธรรม (Non-Violence)
๓. ตปธรรม (Self-Torture)
๓.
ทั้งพุทธทาสภิกขุ และมหาตมะ คานธี มองการเมืองในแง่วิวัฒนาการทางธรรมชาติ
และสังคมก่อให้เกิดความจำเป็นในการที่จะต้องมีผู้ปกครองที่มีธรรมเข้ามาปกครอง
โดยการเน้นคุณธรรมของผู้ปกครองและผู้นำการต่อสู้ทางการเมือง แนวความคิดทางการเมืองของท่านต่างก็เน้นการพัฒนาจิตใจ
และมีพื้นฐานที่เชื่อว่าทุกคนเกิดมามีความไม่เท่าเทียมกันทั้งกำลังสติปัญญาและความสามารถ
สังคมมีชั้นสูงต่ำตามหน้าที่และปกครองกันตามลำดับ
ทั้งสองท่านได้เสนอแนวความคิดทางการเมืองตามทัศนะของแต่ละท่านโดยการประยุกต์ใช้หลักธรรมทางศาสนาของตนเอง
และหลักศาสนธรรมร่วมของศาสนาอื่น ๆ
พุทธทาสภิกขุ
เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเถรวาท วิธีนำเสนอแนวคิดทางการเมืองของท่านจึงกระทำการโดยผ่านคำสอนทางศาสนา
ส่วน มหาตมะ คานธี นอกจากเป็นนักการเมืองแล้ว
อีกบทบาทหนึ่งของท่านยังเป็นนักการศาสนา นักศีลธรรม ดังนั้น
แนวคิดทางการเมืองของท่านสามารถนำมาทดลองด้วยตนเองได้
อย่างไรก็ตามเมื่อดูจุดมุ่งหมายของทั้งสองท่านแล้ว ล้วนมีเป้าหมายอย่างเดียวกัน
คือความสันติสุข และสงบสุขของบ้านเมือง
จะต่างกันอยู่แต่เพียงว่า พุทธทาสภิกขุ เน้นความสงบทั้งแบบโลก (โลกิยะสุข) และแบบความสงบสุขที่อยู่เหนือโลก
(โลกุตตรสุข) อิงตามหลักทางพระพุทธศาสนาเถรวาทในขณะที่ มหาตมะ คานธี มุ่งเป้าหมายให้เกิดความสงบและสันติสุขในสังคมการเมืองอิงตามหลักศาสนาฮินดู
การต่อสู้ทางการเมืองในประเทศไทย หรือในที่ไหน ๆ
ในโลกเป็นการต่อสู้ที่ไม่มีวันจบสิ้น
เพราะนักการเมืองที่ทุจริตฉ้อโกงมักจะได้โอกาสเข้ามาฉ้อฉลระดับชาติได้เสมอ
คราใดที่ประชาชนขาดการศึกษาเรื่องปรัชญารัฐศาสตร์ และขาดการใส่ใจในประโยชน์ส่วนรวม
หากได้เข้าใจ “อหิงสา” “สัตยาเคราะห์” อย่างดีแล้ว
จะได้เข้าใจวิธีต่อสู้กับความรุนแรงโดยอำนาจรัฐ
ด้วยการใช้ความไม่รุนแรงของประชาชนพลเมืองได้ ฯ
____________________________
ดร.ธนเดช อ่อนศรี
ป.ธ ๓ , MA., Ph.D (Philosophy)
Dr. B.R. Ambedkar University, Agra, India
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น