วิธีจัดการกับพวกโทรศัพท์

วิธีจัดการกับพวกโทรศัพท์ที่โทรมาขายของ
  เรื่องของการขายของทางโทรศัพท์ หรือที่เรียกว่าเทเลมาร์เก็ตติ้ง(Telemarketing) ในสหรัฐอเมริกานั้นมีมาหลายสิบปีแล้ว ซึ่งสร้างความรำคาญให้กับผู้อยู่อาศัยเป็นอย่างยิ่ง จนถึงกับหลายบ้านจะไม่ยอมรับโทรศัพท์เลย แต่ใช้เครื่องตอบรับอัตโนมัติแทน ทางรัฐบาลสหรัฐได้เล็งเห็นถึงปัญหาจึงได้ออกกฎหมายห้ามมิให้บริษัท Telemarketing โทรรบกวนผู้อยู่อาศัยที่ไม่ประสงค์จะได้รับโทรศัพท์รบกวนอีก โดยผู้อยู่อาศัยจะต้องแจ้งความจำนงค์ว่า ไม่ต้องการได้รับโทรศัพท์ดังกล่าวอีกต่อไป โดยสามารถทำได้ 2 วิธี ดังนี้
     1.
แจ้งความจำนงค์ผ่านเวบไซท์ - ให้เข้าเว็บไซท์ http://www.donotcall.gov แล้วใส่เบอร์โทรศัพท์ของตนลงไป เพื่อแจ้งความ ประสงค์ว่าไม่ต้องการให้มีโทรศัพท์ Telemarketing มารวบกวนอีก

     2. โทรศัพท์แจ้งความจำนงค์ - โทรศัพท์ 1-888-382-1222 แล้วบอกเบอร์โทรศัพท์ของตน ที่ไม่ประสงค์จะรับ Telemarketing อีก หลังจากท่านได้แจ้งความจำนงค์แล้ว หากมีบริษัทใดโทรมารบกวนอีก ท่านสามารถแจ้ง FTC ได้ที่เวบไซท์เดียวกัน ทาง Telemarketing จะถูกตรวจสอบและเปรียบเทียบปรับ หรืออาจถูกปิดบริษัทหากยังละเมิดกฎดังกล่าว
การลงทะเบียนนี้เริ่มเปิดให้มีผลใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2003 หากแต่คนไทยหลายท่านไม่ทราบเกี่ยวกับเรื่องนี้ หรือบางท่านทราบ แต่ไม่ทราบรายละเอียด ทางไทยนิวยอร์ค จึงแจ้งให้ทราบอีกครั้งเพื่อผลประโยชน์ของตัวท่านเอง ฯ
______________
ป.เดชวิญญาณ

ประวัติ ทัชมาฮาล


ประวัติ  ทัชมาฮาล
       ทัชมาฮาล สุสานหินอ่อนที่ผู้คนเชื่อว่าเป็นสถาปัตยกรรมแห่งความรักที่สวยที่สุดในโลก ถูกสร้างขึ้นโดยกษัตริย์อินเดียผู้มีรักมั่นคงต่อพระมเหสีของพระองค์ เจ้าชายขุร์รัม ชึ่งต่อมาคือจักรพรรดิชาห์ ชหาน พระราชสมภพในปี พ.ศ. 2135 (ค.ศ. 1592) พระบิดา คือ จักรพรรดิ ชาห์ ชหานชีร์ จักรพรรดิองค์ที่สี่แห่งราชวงศ์โมกุล แห่งอินเดีย ตามตำนานกล่าวว่า เจ้าชายขุร์รัม ได้พบกับ อรชุมันท์ พานุ เพคุม ธิดาของรัฐมนตรี เมื่อพระองค์ มีพระชนมายุ 14 พรรษา พระองค์ทรงหลงใหลและหลงรักนาง เจ้าชายขุร์รัมจึงซื้อเพชรด้วยเงิน 10,000 รูปีและบอกแก่พระบิดาของพระองค์ว่าพระองค์มีความประสงค์ที่จะแต่งงานกับบุตรสาวของรัฐมนตรี พิธีอภิเษกถูกจัดขึ้นหลังจากนั้น 5 ปี ในปี พ.ศ. 2155 (ค.ศ. 1612) จากนั้นมาทั้งสองก็มิเคยอยู่ห่างกันอีกเลย


          หลังจากที่พระเจ้าชาห์ ชหาน ขึ้นครองราชบัลลังก์ในปี พ.ศ. 2171 พระองค์มอบความไว้วางใจแก่ อรชุมันท์ พานุ เพคุม และเรียกนางว่า มุมตัซ มาฮาล "อัญมณีแห่งราชวัง" พระมเหสีติดตามพระองค์ แม้แต่ในสนามรบ แนะนำพระองค์ในเรื่องราชการของประเทศ และพระองค์ซาบซึ้งในน้ำพระทัยของพระมเหสียิ่งนัก ครั้นในปี พ.ศ. 2174 (ค.ศ. 1631) พระมเหสีมุมตัซสิ้นพระชนม์ หลังจากให้กำเนิดทายาทองค์ที่ 14 การสิ้นพระชนม์ของพระมเหสีทำให้พระเจ้าชาห์ ชหานโศกเศร้าอยู่ถึงสองทศวรรษ ราชสมบัติส่วนใหญ่สูญเสียไปเพื่อการสร้างอนุสรณ์แห่งความรักของทั้งสองพระองค์


         ในปี พ.ศ. 2200 (ค.ศ. 1657) พระเจ้าชาห์ ชหานทรงพระประชวร และในปี พ.ศ. 2201 (ค.ศ. 1658) พระโอรส โอรังเซบ จับพระเจ้าชาห์ ชหานขัง และขึ้นครองราชบัลลังก์เเทน พระองค์ถูกกักขังอยู่ถึง 8 ปี จนกระทั่งสวรรคตในปี พ.ศ. 2209 (ค.ศ. 1666) ตามตำนานกล่าวว่าให้วันสุดท้ายของชีวิตพระองค์ใช้เวลาทั้งวันในการจ้องมองเศษกระจกที่สะท้อนภาพของทัชมาฮาล และสิ้นพระชนม์ด้วยเศษกระจกในกำมือ พระเจ้าชาห์ ชหานถูกฝังในทัชมาฮาล เคียงข้างมเหสีซึ่งพระองค์ไม่เคยลืม มีบางคนกล่าวว่าพระเจ้าชาห์ ชหาน มิได้ประสงค์ที่จะถูกฝังร่วมกับประมเหสี แต่พระองค์มีแผนการที่จะสร้างสุสานอีกแห่งด้วยหินอ่อนสีดำ เพื่อเป็นสุสานของพระองค์ แต่ผู้รู้หลายท่านเชื่อว่าพระองค์ประสงค์ที่จะถูกฝังเคียงข้างพระนาง มุมตัซ มาฮาล 
ขนาด
          ทัชมาฮาลถูกพิจารณาให้เป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในยุคใหม่ ทัชมาฮาลตั้งอยู่ในสวนริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ในเมืองอาครา ส่วนที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ หลุมศพของพระนางมุมตัซ มาฮาล ซึ่งถูกสร้างด้วยหินอ่อนสีขาว ศิลาแลง ประดับลวดลายเครื่องเพชร พลอย หิน โมราและเครื่องประดับจากมิตรประเทศ ได้รับคำรับรองว่าสร้างขึ้นด้วยสัดส่วนที่วิจิตรและงดงามที่สุด กว้างยาวด้านละ 100 เมตร สูง 60 เมตร มีผู้สร้างและออกแบบร่วม 20,000 คน การก่อสร้างกินเวลานานถึง 22 ปี ทัชมาฮาลมีเนื้อที่ประมาณ 42 เอเคอร์ เป็นที่ตั้งของมัสยิด มีหออาซาน (หอสูงสำหรับร้องเเจ้งเวลาทำนมาซ)และมีสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ นายช่างที่ออกแบบ ชื่อ อุสตาด ไอซา ถูกประหารชีวิตเพื่อมิให้ไปออกแบบสถาปัตยกรรมใด ๆ ที่สวยกว่าได้ ส่วนหัวของทัชมาฮาลมีลักษณะโดมที่เรียกว่าโอเนียนโดม ฯ
_____________________
ป.เดชวิญญาณ

พุทธทาสภิกษุและมหาตมะ คานธี กับปรัชญาการเมือง

พุทธทาสภิกษุและมหาตมะ คานธี กับปรัชญาการเมือง
*************
หลักแนวความคิดที่สำคัญ ของพุทธทาสภิกขุ กับ มหาตมะ คานธี
๑.   แนวความคิดทางการเมืองของพุทธทาสภิกขุนั้น มีพื้นฐานแนวความคิดอิงหลักทางพระพุทธศาสนา
เป็นสำคัญโดยการประยุกต์ใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเถรวาท พระพุทธศาสนานิกายเซน และศาสนาอื่น ๆ เช่น คริสต์ศาสนา เป็นต้น คุณค่าการประยุกต์ใช้หลักธรรมทางศาสนา กับแนวความคิดทางการเมืองของท่านสามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ ส่วนคือ
ส่วนแรก แนวความคิดของท่านมีคุณค่าทางด้านจิตใจ ด้วยท่านเสนอว่า ระบบการเมืองใดก็ได้ถ้าหากประกอบด้วยธรรมแล้ว ถือว่าเป็นรูปแบบการเมืองที่ดีที่สุดในทัศนะของท่าน
ท่านได้เสนอแนวความคิดทางการเมืองแบบ “ธรรมิกสังคมนิยม” เราอาจนำความคิดของท่านไปเป็นระบบจริยธรรมทางการเมือง หรือ ทางรัฐศาสตร์ อุดมคติทางการเมืองและเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองได้
         ส่วนที่สอง ด้านการบริหารจัดการการปกครองนั้น ท่านเห็นว่าปกครองสามารถใช้วิธีการเผด็จการโดยธรรมได้ในคราวจำเป็น ท่านเสนอให้เป็นข้อเลือกของผู้ปกครองที่จะนำวิธีการนี้ในบางคราวของเหตุการณ์บ้านเมือง แต่ผู้ปกครองนั้นต้องมีธรรมกำกับ จึงจะเป็นระบบการปกครองที่ดีที่สุด ท่านเน้นการประยุกต์ใช้หลักธรรมสำหรับผู้ปกครองมากกว่าผู้อยู่ใต้ปกครอง ด้วยเหตุผลว่า การประยุกต์ใช้หลักธรรมกับผู้ปกครองเพียงคนเดียวง่ายกว่าจะทำให้ผู้อยู่ใต้ปกครองจำนวนมากมีธรรม แนวความคิดทางการเมืองแบบ “ธรรมิกสังคมนิยม) เป็นสังคมนิยม” เป็นสังคมนิยมอุดมคติ ท่านเน้นการไม่สะสมส่วนเกิน การไม่เห็นแก่ตัว ทุกคนคิดถึงผลประโยชน์ส่วนรวมมีความเอื้อเฟื้อเพื่อแผ่เมตตากรุณาต่อกัน ต้องทำงานในส่วนของตนและเจียดจ่ายส่วนเกินให้แก่ผู้อื่น แม้ว่าแนวความคิดทางการเมืองแบบนี้จะมีความแตกต่างระหว่างชนชั้น แต่ความแตกต่างระหว่างชนชั้นนั้นเต็มไปด้วยความเมตตา กรุณาต่อกัน หลักธรรมที่ พุทธทาสภิกขุ นำมาประยุกต์ใช้กับ “ธรรมิกสังคมนิยม”คือหลัก ทศพิธราชธรรม, มรรคมีองค์ ๘, โพชฌงค์ ๗, อิทธิบาท ๔, ศีล สมาธิ ปัญญา และหลักเมตตาธรรมเป็นต้น ๒.  แนวความคิดทางการเมืองของมหาตมะ คานธี คิดว่า ท่ามกลางปัญหา และความขัดแย้งต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องแก้ไขด้วยวิธีการรุนแรง หรือวิธีแห่งสงครามเสมอไป มนุษย์ยังมีทางเลือกอื่นช่วยในการลดปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งท่านเรียกว่า หลักอหิงสา คือความไม่เบียดเบียน เป็นวิธีที่ลดปัญหาความขัดแย้งได้ และท่านก็ได้นำวิธีดังกล่าวมาใช้เรียกร้องเอกราชให้กับอินเดีย หลักอหิงสา ตามปรัชญาของคานธี คือความไม่เบียดเบียน ซึ่งถือว่าเป็นหลักใหญ่และเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุด โดยจะสามารถแยกได้ดังนี้
๑.   ความรัก เป็นหัวใจของอหิงสา ไม่มีใครที่จะสามารถต้านทางความรักที่บริสุทธิ์ได้ และด้วยความรักที่บริสุทธิ์นี้ ท่านได้ชนะจิตใจของประชาชนและชนะจิตใจศัตรูของท่านได้
๒.  ความอดทน หลักอหิงสา ต้องอาศัยความอดทนอย่างใหญ่หลวง จึงจะสามารถนำผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่มาได้ มันไม่ใช่วิธีที่จะได้มาในเพียงชั่วข้ามคืน แต่ก็เป็นวิธีที่แน่นอนและถูกต้องที่สุดในการที่จะเอาชนะจิตใจ และความรักจากผู้อื่นได้
๓.  ความกล้าหาญ หมายถึง การปราศจากความกลัวในทุกลักษณะ เช่น ความกลัวตาย ความกลัวความประทุษร้าย กลัวความยากจน หิวโหย เป็นต้น ซึ่งชีวิตของคานธี ก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของบุคคลที่กล้าหาญ และปราศจากความกลัว
๔.  ความบริสุทธิ์ คานธี จะค่อยตรวจสอบชำระจิตใจของตัวเองให้บริสุทธิ์อยู่เสมอในทางการเมือง คานธี จะใช้วิธีสงบแต่เฉียบขาด บนพื้นฐานของความบริสุทธิ์ และความยุติธรรมเสมอ เมื่อใดที่ท่านเห็นว่าประชาชนของท่านเริ่มใช้วิธีรุนแรง ท่านจะทักท้วง และถ้าจำเป็นท่านก็จะหยุดความเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งหมด โดยจะหันมาสำรวจความบกพร่องของตนเองและประชาชนของท่าน
๕.  ความซื่อสัตย์และความจริงใจ มหาตมะ คานธี เชื่อว่า ทั้ง ๒ สิ่งนี้ จะช่วยให้พ้นจากความทุกข์
และภาระยุ่งยากทั้งปวงที่จะเกิดขึ้นได้ ความตั้งใจจริงของ คานธี ที่จะดำเนินตามหลักอหิงสา ทำให้เขากลายเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องจากที่ต่าง ๆ เช่นหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ ได้เคยกล่าวสรรเสริญ คานธี ไว้ตอนหนึ่งว่า “เขาเป็นบุคคลที่มีไม่อันตราย เขาได้ทิ้งพลังทางใจไว้ให้อนุชนรุ่นหลังไว้เป็นมรดก ซึ่งสักวันหนึ่งในกาลข้างหน้า อำนาจพลังทางใจดังกล่าวจักต้องมีเหนือกำลังรบและอาวุธยุทธภัณฑ์ และเหนือลัทธิประหัตประหารกันอย่างหฤโหด”
มหาตมะ คานธี มีพื้นฐานความคิด อิงหลักศาสนาฮินดู โดยการประยุกต์ใช้หลักธรรมทางศาสนาฮินดู คุณค่าแนวความคิดของท่านอาจแบ่งได้เป็น ๒ ส่วน
            ส่วนแรก คุณค่าทางด้านจิตใจ โดยท่านได้นำวิธีการแบบ “อหิงสา” มาใช้กับแนวความคิดของท่าน อหิงสา เป็นผลของหลักสัตยาเคราะห์ในภาคปฏิบัติ หลักการสัตยาเคราะห์เป็นหลักการที่ท่านสร้างขึ้นมาเองโดยท่านได้รับอิทธิพลจากการขัดเกลาทางสังคมระหว่างศาสนาต่าง ๆ การใช้วิธีต่อสู้ทางการเมืองแบบ “อหิงสา” เป็นแบบจริยธรรมของอินเดีย คือการไม่ใช้ความรุนแรง (Non-Violence) และเน้นพลังแห่งความรัก พลังแห่งความดีงามมาแก้ปัญหาทางการเมือง รวมทั้งผู้ปกครองจะต้องเอื้ออำนวยต่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว ท่านเน้นหลักธรรมสำหรับผู้ที่อยู่ในสังคมทุกคน
            ส่วนที่สอง ในทางการเมือง มหาตมะ คานธี นำวิธีการ “อหิงสา” มาเป็นวิธีกาต่อต้านผู้ปกครองที่ไม่ธรรมจนประสบความสำเร็จนำเอกราชมาสู่อินเดียได้ สัตยาเคราะห์เป็นทั้งหลักการ การบริหารจัดการและเป็นขบวนการต่อสู้ทางการเมืองแบบเฉพาะของ มหาตมะ คานธี หลักการเด่นของ “สัตยาเคราะห์” คือการไม่ใช้ความรุนแรง (Non-Violence) เป็นการต่อสู้ระหว่างความดี และความชั่ว สัตยาเคราะห์ขึ้นอยู่กับหลักการ ๒ อย่างคือ
๑.   สัจธรรมและศรัทธาในสัจธรรม
๒.  การดำเนินการอย่างต่อเนื่องและมั่งคง
และหลักการสัตยาเคราะห์นี้จะต้องบรรลุถึงวัตถุประสงค์ตามหลักธรรม ๓ ประการคือ
๑.   สัจธรรม (Truth)
๒.  อหิงสธรรม  (Non-Violence)
๓.  ตปธรรม (Self-Torture)
            ๓.  ทั้งพุทธทาสภิกขุ และมหาตมะ คานธี มองการเมืองในแง่วิวัฒนาการทางธรรมชาติ และสังคมก่อให้เกิดความจำเป็นในการที่จะต้องมีผู้ปกครองที่มีธรรมเข้ามาปกครอง โดยการเน้นคุณธรรมของผู้ปกครองและผู้นำการต่อสู้ทางการเมือง แนวความคิดทางการเมืองของท่านต่างก็เน้นการพัฒนาจิตใจ และมีพื้นฐานที่เชื่อว่าทุกคนเกิดมามีความไม่เท่าเทียมกันทั้งกำลังสติปัญญาและความสามารถ สังคมมีชั้นสูงต่ำตามหน้าที่และปกครองกันตามลำดับ ทั้งสองท่านได้เสนอแนวความคิดทางการเมืองตามทัศนะของแต่ละท่านโดยการประยุกต์ใช้หลักธรรมทางศาสนาของตนเอง และหลักศาสนธรรมร่วมของศาสนาอื่น ๆ
            พุทธทาสภิกขุ เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเถรวาท วิธีนำเสนอแนวคิดทางการเมืองของท่านจึงกระทำการโดยผ่านคำสอนทางศาสนา ส่วน มหาตมะ คานธี นอกจากเป็นนักการเมืองแล้ว อีกบทบาทหนึ่งของท่านยังเป็นนักการศาสนา นักศีลธรรม ดังนั้น แนวคิดทางการเมืองของท่านสามารถนำมาทดลองด้วยตนเองได้ อย่างไรก็ตามเมื่อดูจุดมุ่งหมายของทั้งสองท่านแล้ว ล้วนมีเป้าหมายอย่างเดียวกัน คือความสันติสุข และสงบสุขของบ้านเมือง จะต่างกันอยู่แต่เพียงว่า พุทธทาสภิกขุ เน้นความสงบทั้งแบบโลก (โลกิยะสุข) และแบบความสงบสุขที่อยู่เหนือโลก (โลกุตตรสุข) อิงตามหลักทางพระพุทธศาสนาเถรวาทในขณะที่ มหาตมะ คานธี มุ่งเป้าหมายให้เกิดความสงบและสันติสุขในสังคมการเมืองอิงตามหลักศาสนาฮินดู
การต่อสู้ทางการเมืองในประเทศไทย หรือในที่ไหน ๆ ในโลกเป็นการต่อสู้ที่ไม่มีวันจบสิ้น เพราะนักการเมืองที่ทุจริตฉ้อโกงมักจะได้โอกาสเข้ามาฉ้อฉลระดับชาติได้เสมอ คราใดที่ประชาชนขาดการศึกษาเรื่องปรัชญารัฐศาสตร์ และขาดการใส่ใจในประโยชน์ส่วนรวม หากได้เข้าใจ อหิงสา” “สัตยาเคราะห์  อย่างดีแล้ว จะได้เข้าใจวิธีต่อสู้กับความรุนแรงโดยอำนาจรัฐ ด้วยการใช้ความไม่รุนแรงของประชาชนพลเมืองได้ 
 ____________________________
ดร.ธนเดช อ่อนศรี
ป.ธ ๓ , MA., Ph.D (Philosophy)
Dr. B.R. Ambedkar University, Agra, India